หน้าแรก >> ของดีบ้านเฮา >> วัดศรีชุม

 “ของดีบ้านเฮา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และสถานที่สำคัญ

  ปรับปรุงข้อมูล 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดย Administrator

วัดศรีชุม

วัดศรีชุม

         ตั้งอยู่เลขที่ 270 บ้านศรีชุม หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

         ประวัติความเป็นมาของวัดศรีชุม วัดศรีชุม เป็นวัดโบราณที่น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านนา เนื่องจากยังหลงเหลือซากโบราณสถานร้างกระจัดกระจาย อาทิ บ่อน้ำ ร่องรอยของกำแพงอิฐ เศษกระเบื้องมุงหลังคาของวิหารหลังเดิม ฯลฯ ต่อมาได้รับการฟื้นฟูสภาพให้เป็นพระอารามอีกครั้งในปี 2452 โดยคณะศรัทธาที่อาศัยอยู่ละแวกบ้านผามวัว ได้อาราธนา “พระครูชยาลังการ์” จากวัดเหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน มาเป็นผู้อำนวยการสร้างวัด และวางรากฐานการบริหารปกครอง ตั้งชื่อว่า “วัดศรีชุม” ภาษาล้านนามักอ่านแบบเรียงตัวแยกพยางค์ว่า “วัดสะหลีจุม” หมายถึงวัดที่มีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ จำนวนมากหลายต้น

         ภายในวัดประกอบด้วยเสนาสนะที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนา “พระเจ้าฝนแสนห่า” พระเจดีย์รูปแบบผสมระหว่างทรงกลมลังกาที่มีการตกแต่งซุ้มจระนำแบบพม่า-ไทยใหญ่ พระวิหาร พระอุโบสถหลังเก่า อาคารห้องสมุดเดิม (ตั้งอยู่ด้านนอกของกำแพงแก้ว) และอาคารกุฏิทรงตึกแบบตะวันตก ซึ่งในอดีตเคยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม

สถาปัตยกรรมของอาคารกุฏิวัดศรีชุม

         อาคารที่เรียกว่า กุฏิวัดศรีชุม หลังนี้ เป็นผลงานของครูบาชยาลังการ์ เจ้าอาวาสรูปแรก โดยวัตถุประสงค์เมื่อแรกสร้างนั้น มีความตั้งใจที่จะได้อาคารทรงตึกสมัยใหม่ สองชั้นมีระเบียงทางเดินยาว และตกแต่งลวดลายวงโค้ง-“อาร์ค” เรียงรายในลักษณะอาเขต (Arcade) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “รูปแบบมิชชั่น นารี” เพื่อรองรับพระภิกษุ สามเณร ได้จำนวนมาก สำหรับใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2468

         สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือมีตัวอักษรจารึกไว้ในช่องโค้งเหนือบานหน้าต่างด้านนอกอาคารทางทิศตะวันตก เขียนว่า ปีชวด อัฐศก จุลศักราช 1298 พร้อมกับการคำนวณตัวเลขเป็น พ.ศ.2479 ให้ทราบด้วย ซึ่งไม่มีผู้ใดแน่ใจว่าตัวเลขดังกล่าว หมายถึงการระบีที่มีการอนุรักษ์อาคารหลังนี้ครั้งใหญ่ หรือว่าหมายถึงการระบุศักราชเมื่อยุคแรกสร้างเนื่องจากครูบาชยาลังการ์เจ้าอธิการ ปกครองปกครองวัดศรีชุมอยู่ยาวนานระหว่างปี พ.ศ.2452-2486 และโรงเรียนปริยัติธรรมก็เปิดการสอนมาแล้วตั้งแต่ปี 2468 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เก่ากว่าการระบุไว้ในช่องหน้าต่างราวหนึ่งทศวรรษ

         ในยุคต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยของอาคารดังกล่าว จากโรงเรียนพระปริยัติธรรม กลายมาเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ควบคู่ไปกับการเปิดพื้นที่อาคารให้ประชาชน ชาวบ้านและส่วนราชการได้มีโอกาสเข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมหารือเรื่องราวต่างๆของชุมชน จนกระทั่งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ได้ยกเลิกไป และอาคารดังกล่าวได้ปรับมาเป็นกุฏิสงฆ์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

         เมื่อได้มีการสร้างกุฏิหลังใหม่สำหรับเจ้าอาวาส ทำให้กุฏิหลังนี้หมดหน้าที่ใช้สอย กลายเป็นสถานที่เก็บของเก่าภายในวัด กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2548 ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สานแห่งชาติ หริภุญไชย) ได้ลงพื้นที่สำรวจ วัดศรีชุม ร่วมกับ ดร.ประสิทธิ์ จันทกลาง นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง จึงได้ดำริ หารือกับเจ้าอาวาส พระครูจารุตม์ อรุโณ ว่าเห็นควรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารกุฏิหลังนี้ เนื่องจากมีความงดงามในด้านสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองในด้านพระพุทธศาสนาของจังหวัดลำพูน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์สำหรับจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในท้องถิ่นต่อไป ซึ่งทางเจ้าอาวาสมีนโยบายด้านนี้อยู่แล้วจึงเห็นชอบ จากนั้นได้มีการประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ให้มาเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ ทำผัง จัดทำแบบ ประมาณการเมื่อปี พ.ศ.2549 กระทั่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมศิลปากร ให้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิวัดศรีชุม ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2552 จนแล้วเสร็จ

         สำหรับด้านศิลปะสถาปัตยกรรมนั้น จัดได้ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะที่พบไม่มากนักในเขตล้านนา กล่าวคือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก แบบรูปทรงที่เรียกว่า อาคารมิชชันนารี หรือ นีโอโคโลเนียล มีการเปิดพื้นที่ตอนในอาคารเป็นสวนโรมัน หรือ Roman Court ในทุกรายละเอียดจะมีการตกแต่งทั้งด้วยเครื่องไม้และปูนหล่อ อาทิ ลูกกรงระเบียง บันได ฝ้าเพดาน บานหน้าต่าง ประตู ทุกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมจะให้ความสำคัญกับการเน้นช่องไป จังหวะ มุมฉาก ความกลมกลึงของการถากไม้ ผสานกับการฉาบปูน ทาสีส้มอมชมพูที่ผนังด้านนอก สอดรับกับลูกกรงปูนหล่อ และการใช้สีน้ำเงินเขียนเป็นตัวอักษรระบุปีศักราช(ที่สร้างหรือบูรณะ) ในช่องโค้งเหนือบานหน้าต่างที่ผนังอาคารด้านนอก

         เกี่ยวกับช่างฝีมือนี้ ถือว่ามีความประณีตมากเป็นพิเศษ เมื่อพินิจในทุกๆรายละเอียดแล้วชวนให้สงสัยว่าอาจมีชาวตะวันตก(หรืออย่างน้อยเคยมีประสบการณ์จากเมืองนอก) เป็นผู้ออกแบบ หรือให้คำแนะนำในการควบคุมการก่อสร้าง แต่เนื่องจากไม่มีการบันทึกหลักฐานไว้ ทราบกันเพียงแต่ว่า “ครูบาชยาลังการ์” นั้นเป็นผู้กว้างขวางและเป็นผู้มีรสนิยม ทั้งยังมีความสนิทสนมกับเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งในเชียงใหม่-ลำพูน มาก่อน ซึ่งเจ้านายสายสกุลลำพูนหลายท่านได้สำเร็จกรศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส อาจเป็นไปได้ว่า ทีมช่างที่มามีส่วนร่วมในการดำเนินงานออกแบบก่อสร้างอาคารกุฏิ(หรืออาคารโรงเรียนปริยัติธรรม) หลังนี้ ได้รับการคัดเลือกมาแล้วอย่างดีโดยกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ ผ่านมายังครูบาชยาลังการ์ ไม่ใช่ฝีมือช่างในท้องถิ่น

         ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2555 ดร.เพ็ญสุภา สุขคต ใจอินทร์ จึงได้ลงพื้นที่เก็บภาพถ่าย กุฏิวัดศรีชุมนี้อีกครั้งภายหลังจากที่ได้มีการบูรณะผ่านไปแล้ว 3 ปี พร้อมทั้งได้ขออนุญาตเจ้าอาวาส ในการนำเสนออาคารหลังนี้ต่อสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือก รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นฯ โดยได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลตำบลบ้านกลาง และฝ่ายรับผิดชอบดูแลด้านโบราณสถาน คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ จนส่งผลให้ กุฏิวัดศรีชุมแห่งนี้ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ประจำปี 2556- 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2556 - 2557 จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558

แหล่งข้อมูล: ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ กรรมการบริหารสถาบันอาเซียนศึกษา ,อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและสาละวินศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และอาจารย์พิเศษคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วัดศรีชุม
วัดศรีชุม
วัดศรีชุม
วัดศรีชุม

 

โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 555
โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 109
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

สถิติผู้เข้าเว็บ
 วันนี้ 
618
 เมื่อวาน 
331
 เดือนนี้ 
19,939
 เดือนที่ผ่านมา 
16,399
 ปีนี้ 
62,373
 ปีที่ผ่านมา 
250,698
   ทั้งหมด 
1,045,833
 เริ่มบันทึกวันที่ 12/02/2561