หน้าแรก >> ของดีบ้านเฮา >> หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

 “ของดีบ้านเฮา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และสถานที่สำคัญ

  ปรับปรุงข้อมูล 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดย Administrator

หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า
หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

ตั้งอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 1147 หมู่ที่ 11 บ้านหอชัย ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน

 

ประเพณีปางเก้า บ้านหอชัย หมู่ 11

         ได้กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ประเพณีนี้เริ่มต้นมาจากสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงเสร็จมาเผยแพร่ศาสนา ณ บริเวณดอยขะม้อ จังหวัดลำพูน ในระหว่างที่เสด็จเผยแผ่ศาสนาอยู่นั้น มียักษ์ตนหนึ่งออกมาเจอและหมายจับพระพุทธเจ้ากิน แต่พระพุทธเจ้าได้ต่อรองว่าก่อนที่จะกินตนนั้น ขอให้ตัวพระพุทธเจ้าได้ดื่มน้ำก่อนจะยอมให้จับกินก็เลยขอร้องให้ยักษ์ตนนั้นไปหาน้ำมาให้ดื่มก่อน ยักษ์ตนนั้นก็ยอมไปหาน้ำมาให้เพราะต้องการ จะกินพระพุทธเจ้าจึงยอมปฏิบัติตามคำขอ ปรากฏว่าบริเวณนั้นไม่มีน้ำให้ดื่มเลย และบริเวณที่ยักษ์ไปหาน้ำมานั้นปัจจุบันเรียกว่า บ้านหนองแล้ง (บ้านไชยสถาน) เมื่อบริเวณนั้นไม่มีน้ำ ยักษ์ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาน้ำมาจากที่ไหนได้ จึงกลับมาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหาริย์โดยการใช้หัวแม่มือจิ้มลงไปในบริเวณยอดดอยขะม้อ ปรากฏว่ามีน้ำพุ่งออกมา ยักษ์ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ จึงยอมแพ้และขอเป็นทาสรับใช้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยสั่งให้ยักษ์ตนนั้นปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมและปกปักษ์รักษาบริเวณบ่อน้ำและบริเวณรอบดอยขะม้อ รวมไปถึงคนที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นให้อยู่เย็นเป็นสุขสงบร่มเย็น

         ต่อมา ชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณที่พระพุทธเจ้าให้ยักษ์ปกปักษ์รักษานั้นก็เสื่อมใส ศรัทธา เคราพบูชายักษ์ที่ปกปักรักษาและขจัดทุกข์ภัยต่างๆ ให้จึงสร้างศาลาที่พักให้ ณ หอเจ้า บ้านหน้าหอ ขี้เหล็ก ยักษ์ตนนี้ได้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ตลอดมา เมื่อยักษ์ได้หมดอายุชัยลงจึงได้เป็นเทพ และเป็นเทพที่นับถือของชาวบ้านตลอดมา ชวนบ้านจึงได้ตั้งชื่อให้ยักษ์ว่า “เจ้าพ่อฮุ้งขาว” เวลาผ่านมาหลายปีจนชาวบ้านเรียกเพี้ยน ไปจนกลายเป็นเจ้าพ่อหงส์ขาว จนถึงปัจจุบัน ต่อมามีแม่อุ้ยหอม ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาแต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อฮุ้งขาว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านที่ศรัทธา เจ้าพ่อฮุ้งขาว ก็ได้จัดพิธีทรงเจ้าเป็นงานประเพณีเรื่อยมา

 

พ่อปู่พญาฮุ้งขาว

หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

         เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเดินลาทสัตธีขึ้นมาเวียงนครพิงค์ที่ดอยม่อนหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทที่ดอยม่อนนั้น ดอยม่อนนั้นก็เลยได้ชื่อว่าดอยพระบาทสี่รอย อยู่ในอำเภอแม่แตง จากนั้นพระพุทธเจ้าได้เดินทางมาทางดอยยาว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธเจ้าได้ห้างบาตรที่ดอยห้างบาตร ก็ออกบิณฑบาตรมาถึงดอยม่อนหนึ่ง (ดอยจี่หม้อ) ก็ได้พบกับเจ้าพ่อพญาฮุ้งขาว (ซึ่งเป็นพญายักษ์) ที่เฝ้ารักษาดอยม่อนนี้ (ดอยจี่หม้อ) พระพุทธเจ้าได้พักฉันเพล พอพระพุทธเจ้าฉันเพลเสร็จแล้วไม่มีน้ำที่จะพ่อพญาฮุ้งขาวเลยอาสาจะไปหาน้ำมาให้แต่มีข้อแม้ว่าหากพระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าต้องยอมเป็นอาหารของพ่อพญาฮุ้งขาวพระพุทธเจ้าเลยตอบตกลง พ่อพญาฮุ้งขาวก็ได้ไปหาน้ำไปเจอหนองหนามหนองหนึ่งแต่ในหนองไม่มีน้ำมีแต่ไซ (ไซดักปลา) ก็เลยตั้งชื่อว่าหนองไซ อยู่ในตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พ่อพญาฮุ้งขาวไม่ได้น้ำมาให้พระพุทธเจ้าฉัน พระพุทธเจ้าเลยชี้ให้พ่อพญาฮุ้งขาวไปทางทิศตะวันตกก็ได้พบหนองน้ำแต่ในหนองน้ำไม่มีน้ำเพราะว่ามันแล้ง ก็เลยตั้งชื่อว่า หนองแล้ง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองแล้ง อยู่ในเขตอำเภอเมืองลำพูน

         พระพุทธเจ้าได้สร้างพ่อฤาษี 4 ทิศ คือ

         ทางทิศตะวันออก ชื่อ ฤษีเทพนิมิต

         ทางทิศตะวันตก ชื่อ ฤษีสุทัศนัยปัญญา

         ทางทิศใต้ ชื่อ ฤษีวาสุเทพ

         ทางทิศเหนือ ฤษีสุเทวะฤาษี

         หลังจากพ่อพญาฮุ้งขาวรับศีลจากพระพุทธเจ้าแล้วพ่อพญาฮุ้งขาวได้หยุดฆ่ากินมนุษย์เป็นอาหารและปฎิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนจุติเป็นเทพ

หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

         เจ้าพ่อพญาฮุ้งขาวได้ทำสัญลักษณ์โดยการปักเสาหลักบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่ง (ปัจจุบันคือบริเวณหอหลวงบ้านหอชัย) เพื่อเป็นที่สถิตย์ในเฝ้าปกปักษ์รักษาอาณาบริเวณเชิงดอยจี่หม้อ (ดอยขะม้อ) เพราะเลื่อมใสศรัทธาในบุญบารมีขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าพ่อพญาฮุ้งขาวจะมาเยี่ยมเยียนโลกมนุษย์โดยผ่านร่างทรง เพื่อบอกกล่าวอบรมสั่งสอนมนุษย์ให้ประพฤติปฎบัติอยู่ในศีลธรรม โดยผ่านร่างทรงคนแรก คือ แม่คำแปง อยู่บ้านเหมือกวัก คนที่สอง คือ แม่จันทร์หอม บ้านขี้เหล็ก คนที่สาม คือ แม่บุญศรี บ้านสันป่ายางหน่อม คนที่สี่ แม่อุ้ยขัน บ้านขี้เหล็ก คนปัจจุบันคือ พ่อตา พ่อตั้งหอหลวงในขณะนั้นคือ พ่อกำนันบุญปั๋น คนที่สองคือ พ่อไสว บ้านขี้เหล็ก ปัจจุบันคือ พ่อปัน บ้านหอชัย เจ้าพ่อพญาฮุ้งขาวมีลูกเลี้ยง คือ เจ้าพ่อคิงคำ เจ้าพ่อรามมนุษย์ เจ้าพ่อคำเปียง เจ้าพ่อน้อยหล้า เจ้าพญาจ้างเผือก ซึ่งเป็นผู้คอยรับใช้เจ้าพ่อพญาฮุ้งขาว

แหล่งข้อมูล : ผู้รู้ปราชญ์ชาวบ้านหมู่ 11 บ้านหอชัย

 

“เล่าขานตำนานหอจัย โดย สส.สงวน พงษ์มณี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน”

หอหลวง(หอจัย) พ่อปู่พญาฮุ้งขาว ประเพณีปางเก้า

         ในปี พ.ศ.2502 เจ้าคุณศรี นักเทศน์ชื่อดังของจังหวัดลำพูน ได้ออกจาริกในฤดูแล้งพบปะประชาชนและเสวนา เรื่อง พระพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องผี โดยเล่าว่า ในทุกปี เจ้าเมืองหละปูนผู้ครองเมือง หละปูนทุกองค์จะต้องเป็นเจ้าภาพหรือร่วมทำบุญพิธีกรรม อยู่ 4 แห่ง คือ 1 กู่แดง ตำบลริมปิง 2. วัดประตูป่า 3. หอข้างศาลากลางจังหวัดลำพูน (อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวีปัจจุบัน) 4. หอจัย (บ้านหอชัย ตำบลบ้านกลาง) สถานที่ทั้ง 4 แห่ง เจ้าเมืองหละปูนทุกองค์ต่างเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่สถิตย์ของผีเม็งซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนหละปูน แต่สถานที่ที่เจ้าเมืองหละปูนเลือกที่จะมาร่วมทำพิธีกรรมด้วยตนเองเป็นประจำทุกปีและทุกองค์ คือ หอจัย เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษของคนหละปูนคือ เม็ง พระนางเจ้าจามเทวี คือ เม็งคะบุตร (เป็นลูกของเม็ง) ในอดีตเมืองหละปูนมีผู้คนที่ประกอบด้วย เม็ง ม่าน (พม่า) มอญนอกจากนั้นแล้ว ในอดีตหอจัยยังเป็นที่เคารพนับถือของพญาผาบ พญาผาบผู้ต่อต้านการเก็บขูดรีดภาษีจากประชาชน จากการปกครองของรัฐในสมัยนั้น เป็นอย่างมาก เพราะพญาผาบจะออกรบครั้งใดก็ต้องมาขอพร ขอโชค ขอชัย (ขอจัย) และจะรบชนะทุกครั้งที่มาขอพรตลอดจนเป็นสถานที่ขอโชคลาภ ขอพร ขอชัย (ขอจัย) เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวศูนย์รวมจิตใจของคนดังนั้น ในอดีต คำว่า “จัย” หมายถึง โชคลาภ ชัยชนะ

         ในอดีตพิธีกรรมเซ่นไหว้หอจัย มีอยู่ 3 มุม ซึ่งลักษณะการเซ่นไหว้มีลักษณะและความหมายที่แตกต่างกันคือ

         มุมเม็ง ซึ่งถือว่าเป็นบรรบรุษของคนหละปูน คนที่กราบไหว้เม็ง เพื่อพรเกี่ยว พืชผล ทางการเกษตร ขอให้ปลูกข้าวได้ผลผลิตดี ไม่มีแมลงมารบกวน ขอพรเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย หายป่วย (ลักษณะเด่นของมุมผีเม็ง คือ การเซ่นไหว้จะต้องมีน้ำปลาร้าทุกครั้ง

         มุมมอญ การเซ่นไหว้ผีมอญ เป็นเรื่องการแต่งกายที่สวยงาม การละเล่น การรื่นเริง การร่ายรำ

         มุมม่าน (พม่า) การเซ่นไหว้ผีม่าน เป็นเรื่อง เครื่องดนตรี ปี่พาทย์ ฆ้องกลอง

         การเซ่นไหว้พิธีกรรมของหอจัย จะมีการเตรียมของเซ่นไหว้หมุนเวียนกันในรอบ 4 ปี คือ ปีที่ 1 หมู ปีที่ 2 หมู ปีที่ 3 หมู ปีที่ 4 ควาย (ต้องเป็นควายแรว คือ ความหนุ่ม)

         ลูกชายเจ้าฟ้าฮ่วน หลานเจ้าชัยลังกา ชื่อจิ๋น บวชเรียนตั้งแต่อายุ 9 ปี จนได้เป็นเจ้าอาสสะดือเมือง วัดพระธาตุหริภุญชัย คนลำพุนเรียกท่านว่า เจ้าตุ๊ลุงจิ๋น ท่านเล่าเรื่อง การนับถิอผีบรรพบุรุษว่า

         คนลำพูน เราถือ่าผีคุ้มครองบ้านเรือน เรียกว่าผีหอผีเฮือน มีผู้คุ้มครองชุมชน หมู่บ้าน เรียกว่า “หอเจ้าที่” หรือ “เสื้อบ้าน” และที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นของเขตภาคเหนือตอนบนคือ พญาเจ้าเมืองลำพูน ยังได้สร้างหอผีเก้า เพื่อช่วยกันคุ้มครองเมือง เพื่อเป็นที่รวมจิตใจของชาวบ้าน และมอบให้ ขุน ต้าว พญา ไปดูแลและเป้นหลักในการจัดพิธีกรรมการขอบคุณผีบรรพบรุษ ทางทิศตะวันตกเมืองลำพูน มีหอผีเก้าตั้งแต่อยู่ที่ กู่แดง ตำบลบริมปิง อำเภอเมืองลำพูน มีต้าวแสนยศเป้นคนดูแล ทิศเหนือมี พญาปันทะ เป้นคนดูแลหอผีเก้าซ่งตั้งอยู่ที่วัดประตูป่า ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน ทิศตะวันออก มีพญาผาบเป็นผู้ดูแลหอผีเก้าอยู่เขตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน

         หอผีเก้าที่บ้านกลาง ทำไมมีชื่อเรียกว่า “หอจัย” เพราะว่า คนลำพูนที่เรียกว่า “หอจัย” อย่างนี้ ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่า ถ้าต้องการจัยชนะ (ชัยชนะ) ในทุกเรื่อง ต้องมาบนขอพรจากหอจัยแห่งนี้

         อาจเป็นเพราะผู้ดูแลหอนี้คือ พญาผาบ พญาผาบเป็นผู้ต่อต้านสยามประเทศ สยามประเทศจึงถือว่าพญาผาบ เป็นกบฎ ตาคนลำพูน เชียงใหม่ และคนทางภาคเหนือตอนบน กลับมองว่า พญาผาบ คือวีรชน เพราะพญาผาบม่เห็นด้วยในเรื่องการลงโทษชาวนาผู้ไม่มีเงินเสียภาษี พญาผาบ คือ ผู้มีความกล้าหาญที่ช่วยเหลือชาวนา ซึ่งถูกนายภาษีจับกุม ความเป็นวีรชนของพญาผาบ ท่านจะหาอ่านได้จาก ตนานเจ้าราช ตำนานยอดลาน และตำนานอ้ายแขนสั้น ซึ่งตีพิพม์ในยุคสมัยของครูบาศรีวิชัย

         ในปี พ.ศ.2513 ผมได้เดินทางไปเป็น อาสาสมัครเป็นทหารไปรบเวียดนาม ทหารที่ถูกส่งไปรบเวียดนามจะเดินทางไปขอพรเจ้าราบุตร ณ คุ้มเจ้าเมืองเชียงใหม่ และหลักจากนั้นทหารที่อาสาไปรบก็รวมกลุ่มผู้มีความเชื่อเรื่อง หอจัย และกู่ช้าง ก็จะเดินทางมาขอพร และขอยืมหิน และเศษอิฐ นำติดตัวไปคุ้มครองตัวเอง และเมื่อรบชนะกลับมาต้องนำมาคืน หอจัย ที่เดิม คนลำพูนส่วนหนึ่งไม่ว่าจะไปทำกิจการอะไร ต้องการชัยชนะต้องมาขอพรหอจัย

         “นายกฯ ประสิทธิ์ จันทกลาง เป็นเด็กวัดร่วมสมัยเดียวกับผม ท่านมีความประสงค์อยากจะสร้างบูรณะหอจัยให้เป็นศูนย์รวมน้ำใจ ท่านก็ฝากผมในฐาน ส.ส. ไปอธิบายถึงความจำเป็นในการสร้างหอจัย เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจคนลำพูน เมื่อกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศบาลตำบลบ้านกลาง หอจัยใหม่อย่างที่เราได้เห็นจึงเกิดขึ้น”

         “ผมขอเป็นตัวแทนชาวบ้าน ขอบคุณในเจตนาดีของ นายกประสิทธิ์ จันทกลาง ที่ทำให้ “หอจัย” เป็นจุดรวมใจของคนลำพูนอย่างสง่างาม” อดีต สส.สงวน พงษ์มณี กล่าว

 

โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 555
โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 109
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

สถิติผู้เข้าเว็บ
 วันนี้ 
776
 เมื่อวาน 
575
 เดือนนี้ 
13,519
 เดือนที่ผ่านมา 
22,364
 ปีนี้ 
78,317
 ปีที่ผ่านมา 
250,698
   ทั้งหมด 
1,061,777
 เริ่มบันทึกวันที่ 12/02/2561