หน้าแรก >> ของดีบ้านเฮา >> หมู่ที่ 9 บ้านกลาง

 หมู่ที่ 9 บ้านกลาง

  ปรับปรุงข้อมูล 19 ภุมภาพันธ์ 2563 โดย Administrator

หมู่ที่ 9 บ้านกลาง

ประวัติหมู่บ้านกลาง

         บ้านกลางเป็นหมู่บ้านที่มีอายุยาวนานมาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางในด้านการประกอบอาชีพการเกษตร เป็นศูนย์กลางการเดินทาง เพื่อติดต่อบ้านอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงหรือในตัวเมือง จึงได้ชื่อว่าบ้านกลาง ที่ผ่านมามีผู้นำหมู่บ้านหลายคน ในปัจจุบันมี นางเกศินี มหาวันน้ำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง

 

บ้านกลาง

         ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลำพูนอยู่ห่างจากที่ว่าการ อำเภอเมืองลำพูน เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร

         มีจำนวนประชากรทั้งหมด 942 คน เป็นชาย 447 คน หญิง 495 คน จำนวนหลังคาเรือน 680 หลังคาเรือน

มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและอำเภอข้างเคียง ดังนี้

         ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านพญาผาบ

         ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแจ่มพัฒนา

         ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านท่าล้อ – ศรีคำ

         ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ยาก

ลักษณะภูมิประเทศ

         สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านโดยทั่วไปจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม

อาชีพ

         จะประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขายทำเฟอร์นิเจอร์เป็นอาชีพหลัก

สภาพทางสังคม

         ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีไทย มีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนธนรัตน์วิทยา และโรงเรียนบ้านกลางวิทยานุกูล พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและลำไย

การคมนาคมขนส่ง

         ถนนสายหลักของหมู่บ้านคือ บ้านกลาง – ดอยติ ถนนภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นถนนคอนกรีต

ประเพณีและวัฒนธรรม

         ภายในชุมชนมีการร่วมกันจัดทำประเพณีทางพระพุทธศาสนาเช่น แห่เทียนในวันเข้าพรรษา และประเพณีสงกรานต์ มีสำนักสงฆ์กู่ฆ้องคำ

การให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

         คือ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร ที่ทิ้งและกำจัดขยะ อาคารเอนกประสงค์ หอกระจายข่าว มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ไฟฟ้า โทรศัพท์สาธารณะ ร้านค้าสหกรณ์ ศูนย์ฝึกอาชีพ

หมู่ที่ 9 บ้านกลาง

 

สถานที่สำคัญ

         วัดฆ้องคำ  ได้เริ่มมีการพัฒนาโดยนายชุมพล มหาวันน้ำ อดีตผู้ใหญ่บ้านแต่เดิม เดิมพื้นที่นี้เป็นวัดร้าง (ที่สาธารณะประโยชน์) ของหมู่บ้าน จึงได้ร่วมกับคณะศรัทธาดำเนินการก่อสร้างศาลาบำเพ็ญบุญ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 เป็นต้นมา หลังจากนั้นได้เริ่มก่อสร้างกุฎิสงฆ์ ทรงล้านนาประยุกต์ ตั้งแต่ปี 2548 แล้วเสร็จในปี 2551 และเมื่อปี 2548 ได้ก่อสร้างพระวิหาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีพระมหาศุทธพันธ์ สิริญาโณ เป็นเจ้าอาวาส

หมู่ที่ 9 บ้านกลาง

 

         พื้นที่โดยประมาณ 4 ไร่ ปี 2550 ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม 3 งาน 18 ตารางวา เป็นเงิน 800,000 บาท จากนายทองคำ ตันกลาง ราษฎรหมู่ 9 โดยความร่วมมือของผู้จัดการ เจ้าของ โรงเรียนธนรัตน์วิทยา เป็นผู้ประสานงานพร้อมคณะศรัทธาประชาชนและผู้ปกครองนักเรียน ร่วมกันจัดทำเป็นผ้าป่าสามัคคีจัดซื้อที่ดินดังกล่าวถวายวัด

สิ่งสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ

         - อนุเคราะห์พื้นที่ในการจัดสร้างถังเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน

         - ร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน ชุมชน ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ

         - อนุเคราะห์พื้นที่จัดทำผนังกั้นลำน้ำแม่ยาก

         ปัจจุบันได้รับการอนุมัติ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดตั้งเป็นวัดฆ้องคำ หมู่ที่ 9 ต.บ้านกลาง เรียบร้อยแล้ว

 

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านกลาง

         ตำบลบ้านกลางได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามแนวทางการพัฒนาเด็ก และการจัดตั้งศูนย์พัฒนา เด็กเล็กกรมการพัฒนาชุมชนตำบลบ้านกลาง ประมาณปี 2523 และได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชนเรื่อยมาดังนี้

         ได้รับงบประมาณสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 หลัง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว

         ได้รับงบประมาณสนับสนุนค่าอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน

         ต่อมาปลายปี 2539 จำนวนเด็กตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกรมการพัฒนาชุมชนลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดเอาไว้ อำเภอ จึงถอนความช่วยเหลือและร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเด็กประสานงานขอความช่วยเหลือ จาก อบต.บ้านกลาง สนับสนุนพัฒนาเด็กต่อไป อบต.บ้านกลาง รับช่วยเหลือในหลักการไว้ก่อนและเสนอขอให้เป็นการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระดับตำบล ประมาณปี 2540 อบต.บ้านกลาง(เดิม) ได้เข้าร่วมสัมมนาโครงการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและครอบครัวขององค์การบริหารส่วนตำบล ณ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการเขต 5 ลำปาง ทำให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของ อบต. ที่จะต้องปฏิบัติตาม พรบ. สภาตำบล และ อบต. ปี 2537 มากขึ้น

         ปี 2541 ในคราวประชุมจัดทำข้อบังคับงบประมาณจึงได้เชิญพัฒนาการอำเภอเข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการพัฒนาเด็กและ อบต. เห็นชอบให้จัดทำข้อบังคับสนับสนุนงบประมาณดังนี้

         ปี 2541 สร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 802,000 บาท

         ปี 2542 สนับสนุนค่าตอบแทนผู้ดูแลเล็ก, ภารโรง, จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน, สนานเด็กเล่น จำนวน 1,031,550 บาท

         และเมื่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเรียบร้อยแล้วได้ประชุมเลือกตั้ง คณะกรรมการพัฒนาเด็ก (กพด.) ขึ้นจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครอง และผู้นำท้องถิ่น ขึ้น 1 คณะต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2542 อบต. ชุดเดิมได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งลง การเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะหยุดชะงักลง จนกระทั่งการเลือกตั้ง อบต.ชุดใหม่มีนายประสิทธิ์ จันทกลาง เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ได้เล็งเห็นว่าควรเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กเล็ก(กพค.) ใหม่ ให้ อบต. เป็น กพค. เพื่อบริหารงานในเดือนกันยายน 2542 ได้ทำพิธีรับโอนงานพัฒนาเด็กเล็กจากกรมการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นทางการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกลาง จึงได้ดำเนินการมาตั้งแต่กันยายน 2542 จนถึงปัจจุบัน

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านกลาง
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านกลาง

 

โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านกลาง

โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านกลาง
โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านกลาง

 

         ประวัติก่อตั้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้กระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน

         การศึกษาปฐมวัย (เตรียมอนุบาล – อนุบาล 2 ) เทศบาลบ้านกลาง ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยรับโอนมาจากกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2542 รับดูแลเด็กเล็ก ก่อนวัยเรียน อายุ 2.5–4 ปี ในระดับอนุบาล 1 อายุ 4-5 ปี และอนุบาล 2 ระหว่างอายุ 5-6 ปี เพื่อให้มีความพร้อมทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม พร้อมที่จะเข้าเรียนต่อ ในระดับประถมศึกษา

         การศึกษาขั้นพื้นฐาน เทศบาลตำบลบ้านกลางได้ดำเนินการขอรับการประเมินความพร้อม จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา (ป.1-6) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาประเมินความพร้อมให้จัดตั้งโรงเรียนเทศบาล1 บ้านกลาง (โรงเรียนบ้านกลางวิทยานุกูลเดิม) และจัดการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2549 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 เริ่มก่อตั้งมีจำนวนนักเรียนในระดับอนุบาล 1 จำนวน 67 คน ระดับชั้นอนุบาล 2 จำนวน 36 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 43 คน

         เดิมนั้น โรงเรียนเทศบาล1 บ้านกลาง (โรงเรียนบ้านกลางวิทยานุกูลเดิม) เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล 1-2 และประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้อาคารเรียนชั่วคราว ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของเทศบาลบ้านกลาง ประกอบด้วย ห้องเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้อง ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องสมุด ห้องดนตรี ห้องประชุม ห้องพักครู โรงอาหาร

         สำหรับระดับชั้นอนุบาล 1 และ 2 ได้จัดให้เรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านกลาง พร้อมกันนี้ มีสวัสดิการรถรับ – ส่ง ฟรี ชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน อาหารเสริมนม อาหารกลางวัน ฟรี

         เทศบาลตำบลบ้านกลาง มีสถานที่จัดสร้างโรงเรียนถาวร ภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรม ตำบลบ้านกลาง พื้นที่จำนวน 13 ไร่ 3งาน 99 ตารางวา ปัจจุบันมีอาคารเรียนเด็กเล็ก 2 หลัง , อาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง ,อาคารเรียน 4 ชั้น 2 , โรงอาหาร , อาคารปฐมพยาบาล และสนามกีฬากลางแจ้ง เป็นต้น ปัจจุบันมี นายประจญ ปัญโญใหญ่ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

 

วิสัยทัศน์โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านกลาง

         จัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษา มารยาทดี มีคุณธรรมจริยธรรม

พันธกิจ

         1. จัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติ

         2. จัดการศึกษาในระดับอนุบาล ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา

         3. พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

         4. พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีงาม

         5. จัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามปฏิบัติตนตามศาสนาที่ตนนับถือ

         6. ปลูกจิตสำนึกให้มีจิตสาธารณะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

         7. ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

 

คำขวัญของโรงเรียน

“ การเรียนดี มีวินัย ใฝ่พัฒนา นำพาคุณธรรม ”

ปรัชญาโรงเรียน

“การศึกษา เพื่อชีวิตและสังคม ”

 

โรงเรียนธนรัตน์วิทยา

โรงเรียนธนรัตน์วิทยา
โรงเรียนธนรัตน์วิทยา

 

         ประวัติการก่อตั้ง โรงเรียนธนรัตน์วิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 131 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ลำพูนโดยความคิดของ อาจารย์สุทน และ อาจารย์นงลักษณ์ วิชัยรัตน์ ได้เล็งเห็นถึงการอบรมบ่มนิสัยของเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องไปทำงานนิคมอุตสาหกรรม โดยครั้งแรกเริ่มก่อตั้งเป็นสถานรับเลิ้ยงเด็กขึ้นที่บ้านเช่า เลขที่ 109 หมู่ที่ 2 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมีนักเรียนประมาณ 50 คน ต่อมา วันที่ 29 กันยายน 2539 ได้ย้ายมาที่สถานที่ปัจจุบันบนเนื้อที่ 1 ไร่ 88 ตารางวา โดยสร้างอาคารเรียนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ชนิดเดี่ยว 3 ห้องเรียน 1 ห้องธุรการ พร้อมบ้านพักครู 1 หลัง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2541 ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาก่อนประถมศึกษา โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลธนรัตน์” มีนายสุทน วิชัยรัตน์ เป็นผู้รับใบอนุญาต และนายเวชยันต์ ไชยมงคล เป็นครูใหญ่ ปัจจุบันได้ใช้ชื่อโรงเรียนธนรัตน์วิทยาเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมี นายบุญเรือง บัวระวงค์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

 

วิสัยทัศน์โรงเรียนธนรัตน์วิทยา

         จะเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ของประชาชนทั่วไป

คำขวัญของโรงเรียน

“สร้างวิสัยทัศน์ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ มุ่งสู่ความสำเร็จและมาตรฐานสากล”

ปรัชญาโรงเรียน

“ความรู้ คู่คุณธรรม”

 

โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 555
โทรศัพท์ : 053-090711 ต่อ 109
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

สถิติผู้เข้าเว็บ
 วันนี้ 
211
 เมื่อวาน 
398
 เดือนนี้ 
13,223
 เดือนที่ผ่านมา 
16,399
 ปีนี้ 
55,657
 ปีที่ผ่านมา 
250,698
   ทั้งหมด 
1,039,117
 เริ่มบันทึกวันที่ 12/02/2561